วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ปฏิรูปการศึกษา


ปฏิรูปการศึกษา 6 ด้าน รูปธรรมความสำเร็จการพัฒนาศักยภาพกำลังคนของประเทศ
กระทรวงศึกษาธิการ เผยแพร่บทความพิเศษ “ปฏิรูปการศึกษา 6 ด้าน รูปธรรมความสำเร็จการพัฒนาศักยภาพกำลังคนของประเทศ” ซึ่งเป็นสรุปผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีด้านการศึกษาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2559-2561)*
การศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของประเทศที่มุ่งยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นโจทย์ของกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อนการดำเนินงานการพัฒนาการศึกษาของชาติและปักหมุดไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาคุณภาพสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21
ห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการปฏิรูป เพื่อแก้ปัญหา ปรับปรุง และพัฒนางานภายใต้กรอบการปฏิรูปใน ๖ ด้าน ประกอบด้วย การปฏิรูปครู การเพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษา การปฏิรูปการบริหารจัดการ การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน การปฏิรูปการเรียนรู้ และการปรับระบบ ICT เพื่อการศึกษา โดยมีผลสัมฤทธิ์ตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
   1. ด้านการปฏิรูปครู ได้ดำเนินการโครงการสำคัญในหลายเรื่อง อาทิ การพัฒนาศักยภาพครู โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ผ่านโครงการ Boot Camp การตั้งสถาบันคุรุพัฒนา เพื่อการพัฒนาครูแบบครบวงจรเพื่อลดการจัดอบรมสัมมนาซ้ำซ้อน แก้ปัญหาครูออกนอกห้องเรียน การดึงคนเก่งคนดีมาเรียนครูผ่านโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จะทำให้ได้ครูเก่งที่ทำงานในภูมิลำเนา จำนวนถึง 26,976 คน ในระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ ยังสร้างขวัญและกำลังใจให้ครูผ่านโครงการต่าง ๆ อีกมากมาย ทั้งการปรับระบบการพัฒนาวิทยฐานะที่มุ่งเน้นการประเมินจากความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติงานของครูแทนการตรวจเอกสาร การปรับปรุงบ้านพักครู การแก้ปัญหาหนี้สินครูด้วยการลดดอกเบี้ย ชพค. เหล่านี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพครู เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนต่อไป
   2. การเพิ่ม กระจายโอกาส และพัฒนาคุณภาพการศึกษา ได้ดำเนินโครงการสำคัญต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดังนี้ การจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนภาคใต้ จัดการศึกษาของศูนย์ศาสนาอิสลามประจำมัสยิด สถาบันศึกษาปอเนาะ จัดตั้งโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้และอาชีวศึกษาประชารัฐ สำหรับเด็กที่มาจากครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ ดำเนินการเปิดไปแล้ว จำนวน 68 แห่ง การกระจายโอกาสให้กับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนขนาดเล็ก ผ่านโครงการติวฟรีดอทคอม DLTV DLIT โรงเรียนดีใกล้บ้าน โรงเรียนประชารัฐ รวมทั้งการจัดการศึกษาให้กับประชาชนทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ประชาชนวัยแรงงาน การจัดการศึกษาอาชีพสำหรับประชาชนกว่า 500,000 คนต่อปี การปรับระบบสอบเข้าสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ การศึกษาสำหรับผู้พิการ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับคนทุกคน
   3. การปฏิรูปการบริหารจัดการ  ได้มีการปรับระบบการบริหารจัดการในหลายเรื่อง ดังนี้ พัฒนาการจัดการศึกษาในรูปแบบ Partnership School มีโรงเรียนเข้าร่วม จำนวน 42 แห่ง และบริษัทเข้าร่วม จำนวน 11 แห่ง กำหนดวิธีการจัดการสอบผู้อำนวยการเขตพื้นที่ในรูปแบบใหม่ โดยมุ่งเน้นให้ได้คนเก่ง และป้องกันการทุจริตจากการคัดเลือก การปรับวิธีการประเมินและการประกันคุณภาพสถานศึกษา ที่สามารถประหยัดงบประมาณกว่าพันล้านบาท แต่เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาและไม่เป็นภาระให้ครู การประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ การจัดตั้งกระทรวงใหม่ที่ดูแลการศึกษาระดับอุดมศึกษา การตรากฎหมายเกี่ยวกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา การสื่อสารสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในรูปแบบที่ทันสมัยผ่านโครงการการสร้างการรับรู้การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนการเร่งปราบปรามการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ ปราบปรามทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ปราบปรามทุจริต MOE Net ปราบปรามทุจริตการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอควาเรียม สงขลา เพื่อให้เกิดการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการเป็นไปด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพ
   4. การผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เป็นการผลิตและพัฒนาคนให้ตรงกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ ดำเนินโครงการสำคัญ ดังนี้ จัดหลักสูตรอาชีวะพันธุ์ใหม่ ดำเนินการสร้างและผลิตอาชีวะในอุตสาหกรรม จัดหลักสูตรอาชีวะพันธุ์ใหม่ที่เน้นผลิตช่างในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 5 สาขา มีวิทยาลัยอาชีวศึกษา เข้าร่วมทั้งหมด 27 แห่ง มีเป้าหมายผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่ให้ได้ 8,500 คนใน 5 ปี มาตรการลดการทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวศึกษา ที่ส่งผลให้การทะเลาะวิวาทลดลงอย่างต่อเนื่อง สัตหีบโมเดลที่เน้นการเรียนจริง รู้จริง ได้ลงมือทำจริง ผลิตกำลังคนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ New S-Curve สร้างระบบการเตรียมนวัตกรในพื้นที่ EEC การจัดการศึกษาด้านอาชีพให้กับประชาชนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีผู้ประกอบการพัฒนาอาชีพ พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ 6,600 คน/ปี โครงการห้องเรียนอาชีพที่เรียนสามัญคู่กับสายอาชีพ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ จบแล้วมีงานทำ มีโรงเรียนนำร่อง 6 แห่ง การสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมของประเทศใน 8 สาขาวิชา มีสถาบันอุดมศึกษาเปิดสอนในปี 2561 จำนวน 20 แห่ง 235 หลักสูตร โครงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมและเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษา โดยจะดำเนินการได้ครบทุกภาค การศึกษาระบบ KOSEN เพื่อเตรียมกำลังคนของประเทศ ซึ่งจะเป็นการเตรียมกำลังคนที่สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
   5. การปฏิรูปการเรียนรู้  ได้ดำเนินการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถเฉพาะด้าน ผ่านโครงการห้องเรียนกีฬาห้องเรียนดนตรี โครงการสานฝันการกีฬาชายแดนใต้ เพื่อให้เป็นไปตามศักยภาพ การเสริมสร้างอุดมการณ์รักชาติ ศาสนาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย โดยปรับหลักสูตรให้เพิ่มเติมทางประวัติศาสตร์ การสร้างค่านิยมที่พึงประสงค์ผ่านกิจกรรมลูกเสือ การบูรณาการการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ผ่าน STEM ศึกษา การพัฒนาเด็กให้อ่านคล่องเขียนคล่อง รวมถึงให้ประชาชนอ่านออกเขียนได้ทุกคน การจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ผู้เรียนผ่านโครงการ English for All EchoV รวมถึงการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏ ให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง
   6. การปฏิรูป ICT เพื่อการศึกษา โดยการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ต และระบบฐานข้อมูล ได้แก่ การดำเนินโครงการจัดหา High Speed Internet ในโรงเรียน ที่ให้โรงเรียนเลือกผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเอง ทำให้โรงเรียนมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ และสามารถลดค่าใช้จ่ายจากเดิมปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท และโครงการ Big Data กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางของทุกหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการให้สามารถรองรับการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับฐานข้อมูลกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แบบ On-Line Real Time ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการฐานข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของผลสัมฤทธิ์การปฏิรูปการศึกษาจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่กระทรวงศึกษาธิการมุ่งมั่นให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนของประเทศ มีคุณภาพและมีศักยภาพที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ อันเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศไทย ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้อย่างเต็มภาคภูมิ”


ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2018/2/193.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น