วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

U=การประเมินผลหลักสูตร(evaluaton)


U=การประเมินผลหลักสูตร(evaluaton)เขียนเป็นระดับคุณภาพตามSOLO Taxonomy/ได้๑คะแนนมีความรู้ในเนื้อหา_ขั้นเลียนแบบ/ได้๒คะแนนมี๑+มีทักษะจากการใช้ความรู้ฝึกฝน_ขั้นประยุกต์/ได้๓คะแนนต้องมี๑และ๒_ขั้นสร้างสรรค์
การประเมินพัฒนาการ
                        การประเมินพัฒนาการเด็กอายุ ๓ – ๖ ปี เป็นการประเมินพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาของเด็ก โดยถือเป็นกระบวนการต่อตนเอง และเป็น ส่วนหนึ่งของกิจกรรมปกติที่จัดให้เด็กในแต่ละวัน ผลที่ได้จากการสังเกตพัฒนาการเด็กต้องนำมาจัดทำสารนิทัศน์หรือจัดทำข้อมูลหลักฐานหรือเอกสารอย่างเป็นระบบ ด้วยการวบรวมผลงานสำหรับเด็กเป็นรายบุคคลที่สามารถบอกเรื่องราวหรือประสบการณ์ที่เด็กได้รับว่าเด็กเกิดการเรียนรู้และมีความก้าวหน้าเพียงใด ทั้งนี้ ให้นำข้อมูลผลการประเมินพัฒนาการเด็กมาพิจารณา ปรับปรุงวางแผล การจัดกิจกรรม และส่งเสริมให้เด็กแต่ละคนได้รับการพัฒนาตามจุดหมายของหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง การประเมินพัฒนาการควรยึดหลัก ดังนี้
๑.      วางแผนการประเมินพัฒนาการอย่างเป็นระบบ
๒.    ประเมินพัฒนาการเด็กครบทุกด้าน
๓.     ประเมินพัฒนาการเด็กเป็นรายบุคคลอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดปี
๔.     ประเมินพัฒนาการตามสภาพจริงจากกิจกรรมประจำวันด้วยเครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย ไม่ควรใช้แบบทดสอบ
๕.     สรุปผลการประเมิน จัดทำข้อมูลและนำผลการประเมินไปใช้พัฒนาเด็ก
สำหรับวิธีการประเมินที่เหมาะสมและควรใช้กับเด็กอายุ ๓ – ๖ ปี ได้แก่ การสังเกต การบันทึกพฤติกรรม การสนทนากับเด็ก การสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลจากผลงานเด็กที่เก็บอย่างมีระบบ

ประเภทของการประเมินพัฒนาการ
            การพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก ประกอบด้วย ๑) วัตถุประสงค์ (Obejetive) ซึ่งตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช....หมายถึง จุดหมายซึ่งเป็นมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตัวบ่งชี้และสภาพที่พึงประสงค์ ๒) การจัดประสบการณการเรียนรู้ (Leanning) ซึ่งเป็นกระบวนการได้มาของความรู้หรือทักษะผ่านการกระทำสิ่งต่างๆที่สำคัญตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยกำหนดให้หรือที่เรียกว่า ประสบการณ์สำคัญ ในการช่วยอธิบายให้ครูเข้าใจถึงประสบการณ์ที่เด็กปฐมวัยต้องทำเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว และช่วยแนะผู้สอนในการสังเกต สนับสนุน และวางแผนการจัดกิจกรรมให้เด็กและ ๓) การประเมินผล(Evaluation) เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมหรือความสามารถตามวัยที่คาดหวังให้เด็กเกิดขึ้นบนพื้นฐานพัฒนาการตามวัยหรือความสามารถตามธรรมชาติในแต่ละระดับอายุ เรียกว่า สภาพที่พึงประสงค์ ที่ใช้เป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับการประเมินพัฒนาการเด็ก เป็นเป้าหมายและกรอบทิศทางในการพัฒนาคุณภาพเด็กทั้งนี้ประเภทของการประเมินพัฒนาการ อาจแบ่งได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ
๑)      แบ่งตามวัตถุประสงค์ของการประเมิน   
            การแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการประเมิน แบ่งได้ ๒ ประเภท ดังนี้     
            ๑.๑) การประเมินความก้าวหน้าของเด็ก (Formative Evaluation) หรือการประเมินเพื่อพัฒนา (Formative Assessment) หรือการประเมินเพื่อเรียน (Assessment for Learning) เป็นการประเมินระหว่างการจัดระสบการณ์ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กในระหว่างทำกิจกรรมประจำวัน/กิจวัตรประจำวันปกติอย่างต่อเนื่อง บันทึก วิเคราะห์ แปลความหมายข้อมูลแล้วนำมาใช้ในการส่งเสริมหรือปรับปรุงแก้ไขการเรียนรู้ของเด็ก และการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้สอน การประเมินพัฒนาการกับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้สอนจึงเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันหากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ก็ขาดประสิทธิภาพ เป็นการประเมินผลเพื่อให้รู้จุดเด่น จุดที่ควรส่งเสริม ผู้สอนต้องใช้วิธีการและเครื่องมือประเมินพัฒนาการที่หลากหลาย เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การรวบรวมผลงานที่แสดงออกถึงความก้าวหน้าแต่ละด้านของเด็กเป็นรายบุคคล การใช้แฟ้มสะสมงาน เพื่อให้ได้ข้อสรุปของประเด็นที่กำหยด สิ่งที่สำคัญที่สุดในการประเมินความก้าวหน้าคือ การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กในลักษณะการเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่ทำให้การเรียนรู้ของเด็กเพิ่มพูน ปรับเปลี่ยนความคิด ความเข้าใจเดิมที่ไม่ถูกต้อง ตลอดจนการให้เด็กสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองได้
            ๑.๒) การประเมินผลสรุป (Summatie Evaluation) หรือ การประเมินเพื่อตัดสินผลพัฒนาการ (Summatie Assessment) หรือการประเมินสรุปผลของการเรียนรู้ (Assessment of Learning) เป็นการประเมินสรุปพัฒนาการ เพื่อตัดสินพัฒนาการของเด็กว่ามีความพร้อมตามมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยหรือไม่ เพื่อเป็นการเชื่อมต่อของการศึกษาระดับปฐมวัยกับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑
            ดังนั้น ผู้สอนจึงควรให้ความสำคัญกับการประเมินความก้าวหน้าของเด็กในระดับห้องเรียนมากกว่าการประเมินเพื่อตัดสินผลพัฒนาการของเด็กเมื่อสิ้นภาคเรียนหรือสิ้นปีการศึกษา

๒)    แบ่งตามระดับของการประเมิน
การแบ่งตามระดับของการประเมิน แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท
            ๒.๑) การประเมินพัฒนาการระดับชั้นเรียน เป็นการประเมินพัฒนาการที่อยู่ในกระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ผู้สอนดำเนินการเพื่อพัฒนาเด็กและตัดสินผลการพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา จากกิจกรรมหลัก/หน่วยการเรียนรู้(Unit) ที่ผู้สอนจัดประสบการณ์ให้กับเด็ก ผู้สอนประเมินผลพัฒนาการตามสภาพที่พึงประสงค์และตัวบ่งชี้ที่กำหนดเป็นเป้าหมายในแต่ละแผนการจัดประสบการณ์ของหน่วยการเรียนรู้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การสังเกต การสนทนา การสัมภาษณ์ การรวบรวมผลงานที่แสดงออกถึงความก้าวหน้า แต่ละด้านของเด็กเป็นรายบุคคล การแสดงกริยาอาการต่างๆของเด็กตลอดเวลาที่จัดประสบการณ์เรียนรู้ เพื่อตรวจสอบและประเมินว่าเด็กบรรลุตามสภาพที่พึงประสงค์ละตัวบ่งชี้ หรือมีแนวโน้มว่าจะบรรลุสภาพที่พึงประสงค์และตัวบ่งชี้เพียงใด แล้วแก้ไขข้อบกพร่องเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้สอนควรสรุปผลการประเมินพัฒนาการว่า เด็กมีผลอันเกิดจากการจัดประสบการณ์การเรียนรู้หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมหรือสะสมผลการประเมินพัฒนาการในกิจกรรมประจำวัน/กิจวัตรประจำวัน/หน่วยการเรียนรู้ หรืผลตามรูปแบบการประเมินพัฒนาการที่สถานศึกษากำหนด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลใช้ปรังปรุงการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และเป็นข้อมูลในการสรุปผลการประเมินพัฒนาในระดับสถานศึกษาต่อไปอีกด้วย
            ๒.๒) การประเมินพัฒนาการระดับสถานศึกษา เป็นการตรวจสอบผลการประเมินพัฒนาการของเด็กเป็นรายบุคคลเป็นรายภาค/รายปี เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของเด็กในระดับปฐมวัยของสถานศึกษาว่าส่งผลตาการเรียนรู้ของเด็กตามเป้าหมายหรือไม่ เด็กมีสิ่งที่ต้องการได้รับการพัฒนาในด้านใด รวมทั้งสามารถนำผลการประเมินพัฒนาการของเด็กในระดับสถานศึกษาไปเป็นข้อมูลและสารสนเทศในการปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย  โครงการหรือวิธีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ตลอดจนการจัดแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาปฐมวัยของสถานศึกษาตามแผนการประกันคุณภาพการศึกษาและการรายงานผลการพัฒนาคุณภาพเด็กต่อผู้ปกครอง นำเสนอคณะกรรมการถานศึกษาขั้นพื้นฐานรับทราบ ตลอดจนเผยแพร่ต่อสาธรณชน ชุมชน หรือหน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานต้นสังกัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
            อนึ่ง สำหรับการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยในระดับเขตพื้นที่การศึกษาหรือระดับประเทศนั้นหากเขตพื้นที่การศึกษาใดมีความพร้อม อาจมีการดำเนินงานในลักษณะของการสุ่มกลุ่มตัวอย่างเด็กปฐมวัยเข้ารับการประเมินก็ได้ ทั้งนี้ การประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยขอให้ถือปฏิบัติตามหลักการการประเมินพัฒนาการตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐







บทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานประเมินพัฒนาการ
            การดำเนินงานประเมินพัฒนาการของสถานศึกษานั้น ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินพัฒนาการและร่วมรับผิดชอบอย่างเหมาะสมตามบริบทของสถานศึกษาแต่ละขนาด ดังนี้
ผู้ปฏิบัติ
บทบาทหน้าที่ในการประเมินพัฒนาการ
ผู้สอน
๑. ศึกษาหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย และแนวการปฏิบัติการประเมินพัฒนาการตามหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย
๒. วิเคราะห์และวางแผนการประเมินพัฒนาการที่สอดคล้องกับหน่วยการเรียนรู้/กิจกรรมประจำวัน/กิจวัตรประจำวัน
๓. จัดประสบการณ์ตามหน่วยการเรียนรู้ ประเมินพัฒนาการ และบันทึกผลการประจำวัน/กิจวัตรประจำวัน
๔. รวบรวมผลการประเมินพัฒนาการ แปลผลและสรุปผลการประเมินเมื่อสิ้นภาคเรียนและสิ้นปีการศึกษา
๕. สรุปผลการประเมินพัฒนาการระดับชั้นเรียนลงในสมุดบันทึกผลการประเมินพัฒนาการประจำชั้น
๖. จัดทำสมุดรายงานประจำตัวนักเรียน
๗. เสนอผลการประเมินพัฒนาการต่อผู้บริหารสถานศึกษาลงนามอนุมัติ
ผู้บริหารสถานศึกษา
๑.กำหนดผู้รับผิดชอบงานประเมินพัฒนาการตามหลักสูตร และวางแนวทางปฏิบัติการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยตามหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย
๒. นิเทศ กำกับ ติดตามให้การดำเนินการประเมินพัฒนาการให้บรรลุเป้าหมาย
๓. นำผลการประเมินพัฒนาการไปจัดทำรายงานผลการดำเนินงานกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัย
พ่อ แม่ ผู้ปกครอง
๑. ให้ความร่วมมือกับผู้สอนในการประเมินพฤติกรรมของเด็กที่สังเกตได้จากที่บ้านเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการแปลผลที่เที่ยงตรงของผู้สอน
๒. รับทราบผลการประเมินของเด็กและสะท้อนให้ข้อมูลย้อนกลับที่เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กในปกครองของตนเอง
๓. ร่วมกับผู้สอนในการจัดประสบการณ์หรือเป็นวิทยากรท้องถิ่น
คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
๑. ให้ความเห็นชอบและประกาศใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยและแนวปฏิบัติในการประเมินพัฒนาการตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
๒. รับทราบผลการประเมินพัฒนาการของเด็กเพื่อการประกันคุณภาพภายใน



ผู้ปฏิบัติ
บทบาทหน้าที่ในการประเมินพัฒนาการ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
๑. ส่งเสริมการจัดทำเอกสารหลักฐานว่าด้วยการประเมินพัฒนาการของเด็กปฐมวัยของสถานศึกษา
๒. ส่งเสริมให้ผู้สอนในสถานศึกษามีความรู้ ความเข้าใจในแนวปฏิบัติการประเมินพัฒนาการตามมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย ตลอดจนความเข้าใจในเทคนิควิธีการประเมินพัฒนาการในรูปแบบต่างๆโดยเน้นการประเมินตามสภาพจริง
๓. ส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษาพัฒนาเครื่องมือพัฒนาการตามมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานการศึกษาอย่างเป็นระบบ
๔. ให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับการประเมินพัฒนาการและการจัดทำเอกสารหลักฐาน
๕. จัดให้มีการประเมินพัฒนาการเด็กที่ดำเนินการโดยเขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานต้นสังกัดและให้ความร่วมมือในการประเมินพัฒนาการระดับประเทศ

แนวปฏิบัติการประเมินพัฒนาการ
            การประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยเป็นกิจกรรมที่สอดแทรกอยู่ในการจัดประสบการณ์ทุกขั้นตอนโดยเริ่มตั้งแต่การประเมินพฤติกรรมของเด็กก่อนการจัดประสบการณ์ การประเมินพฤติกรรมเด็กขณะปฏิบัติกิจรรม และการประเมินพฤติกรรมเด็กเมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติกิจกรรม ทั้งนี้ พฤติกรรมการเรียนรู้และพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กที่ได้รับการประเมินนั้น ต้องเป็นไปตามมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตัวบ่งชี้ และสภาพที่พึงประสงค์ของหลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัยที่ผู้สอนวางแผนและออกแบบไว้ การประเมินพัฒนาการจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การเรียนรู้ของเด็กบรรลุตามเป้าหมายเพื่อนำผลการประเมินไปปรับปรุง พัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และใช้เป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนาเด็กต่อไป สถานศึกษาควรมีกระบวนการประเมินพัฒนาการและการจัดการอย่างเป็นระบบสรุปผลการประเมินพัฒนาการที่ตรงตามความรู้ ความสามารถ ทักษะและพฤติกรรมที่แท้จริงของเด็กสอดคล้องตามหลักการประเมินพัฒนาการ รวมทั้งสะท้อนการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง แนวปฏิบัติการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยของสถานศึกษา มีดังนี้
๑. หลักการสำคัญของการดำเนินการประเมินพัฒนาการตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
พุทธศักราช ๒๕๖๐
            สถานศึกษาที่จัดการศึกษาปฐมวัยควรคำนึงถึงหลักสำคัญของการดำเนินงานการประเมินพัฒนาการตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย สำหรับเด็กปฐมวัยอายุ ๓-๖ ปี ดังนี้
            ๑.๑ ผู้สอนเป็นผู้รับผิดชอบการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม
            ๑.๒ การประเมินพัฒนาการ มีจุดมุ่งหมายของการประเมินเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของเด็กและสรุปผลการประเมินพัฒนาการของเด็ก
            ๑.๓ การประเมินพัฒนาการต้องมีความสอดคล้องและครอบคลุมมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตัวบ่งชี้ สภาพที่พึงประสงค์แต่ละวัยซึ่งกำหนดไว้ในหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย
            ๑.๔ การประเมินพัฒนาการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ต้องดำเนินการด้วยเทคนิควิธีการที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถประเมินพัฒนาการเด็กได้อย่างรอบด้านสมดุลทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา รวมทั้งระดับอายุของเด็ก โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเที่ยงตรง ยุติธรรมและเชื่อถือได้
            ๑.๕ การประเมินพัฒนาการพิจารณาจากพัฒนาการตามวัยของเด็ก การสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้และการร่วมกิจกรรม ควบคู่ไปในกระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามความเหมาะสมของแต่ละระดับอายุ และรูปแบบการจัดการศึกษา และต้องดำเนินการประเมินอย่างต่อเนื่อง
            ๑.๖ การประเมินพัฒนาการต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้สะท้อนและตรวจสอบผลการประเมินพัฒนาการ
            ๑.๗ สถานศึกษาควรจัดทำเอกสารบันทึกผลการประเมินพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในระดับชั้นเรียนและระดับสถานศึกษา เช่น แบบบันทึกการประเมินพัฒนาการตามหน่วยการจัดประสบการณ์ สมุดบันทึกผลการประเมนพัฒนาการประจำชั้น เพื่อเป็นหลักฐานการประเมินและรายงานผลพัฒนาการและสมุดรายงานประจำตัวนักเรียน เพื่อเป็นการสื่อสารข้อมูลการพัฒนาการเด็กระหว่างสถานศึกษากับบ้าน
๒. ขอบเขตของการประเมินพัฒนาการ
            หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐ได้กำหนดเป้าหมายคุณภาพของเด็กปฐมวัยเป็นมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ซึ่งถือเป็นคุณภาพลักษณะที่พึงประสงค์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นตัวเด็กเมื่อจบหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย คุณลักษณะที่ระบุไว้ในมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กทุกคน ดังนั้น สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพมาตรฐานที่พึงประสงค์กำหนด ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพการศึกษาปฐมวัย แนวคิดดังกล่าวอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมได้ ขอบเขตของการประเมินพัฒนาการประกอบด้วย
            ๒.๑ สิ่งที่จะประเมิน
            ๒.๒ วิธีและเครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน
            ๒.๓ เกณฑ์การประเมินพัฒนาการ
๒.๑ สิ่งที่จะประเมิน
            การประเมินพัฒนาการสำหรับเด็กอายุ ๓-๖ ปี มีเป้าหมายสำคัญคือ มาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์จำนวน ๑๒ ข้อ ดังนี้
                 ๑. พัฒนาการด้านร่างกาย ประกอบด้วย ๒ มาตรฐาน คือ
                        มาตรฐานที่ ๑ ร่างกายเจริญเติบโตตามวัยและมีสุขนิสัยที่ดี
                        มาตรฐานที่ ๒ กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กแข็งแรงใช้ได้อย่างคล่องแคล่วและประสานสัมพันธ์กัน
๒. พัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ ประกอบด้วย ๓ มาตรฐาน คือ
            มาตรฐานที่ ๓ มีสุขภาพจิตดีและมีความสุข
            มาตรฐานที่ ๔ ชื่นชมและแสดงออกทางศิลปะ ดนตรี และการเคลื่อนไหว
            มาตรฐานที่ ๕ มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตใจที่ดีงาม
๓. พัฒนาการด้านสังคม ประกอบด้วย ๓ มาตรฐาน คือ
                        มาตรฐานที่ ๖ มีทักษะชีวิตและปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
                        มาตรฐานที่ ๗ รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความเป็นไทย
                        มาตรฐานที่ ๘ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
            ๔. พัฒนาการด้านสติปัญญา ประกอบด้วย ๔ มาตรฐาน คือ
                        มาตรฐานที่ ๙ ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย
                        มาตรฐานที่  ๑๐ มีความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้
                        มาตรฐานที่ ๑๑ มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
                        มาตรฐานที่ ๑๒ มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้และมีความสามารถในการแสวงหาความรู้ได้เหมาะสมกับวัย
            สิ่งที่จะประเมินพัฒนาการของเด็กปฐมวัยแต่ละด้าน มีดังนี้
            ด้านร่างกาย ประกอบด้วย การประเมินการมีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์ สุขภาพอนามัย สุขนิสัยที่ดี การรู้จักรักษาความปลอดภัย การเคลื่อนไหวและการทรงตัว การเล่นและการออกกำลังกาย และการใช้มืออย่างคล่องแคล่วประสานสัมพันธ์กัน
            ด้านอารมณ์ จิตใจ ประกอบด้วย การประเมินความสามารถในการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมกับวัยและสถานการณ์ ความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความสนใจ/ความสามารถ/และมีความสุขในการทำงานศิลปะ ดนตรี และการเคลื่อนไหว ความรับผิดชอบในการทำงาน ความซื่อสัตย์สุจริตและรู้สึกถูกผิด ความเมตตากรุณา มีน้ำใจและช่วยเหลือแบ่งปัน ตลอดจนการประหยัดอดออม และพอเพียง
            ด้านสังคม ประกอบด้วย การประเมินความมีวินัยในตนเอง การช่วยเหลือตนเองในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การระวังภัยจากคนแปลกหน้า และสถานการณ์ที่เสี่ยงอันตราย การดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การมีสัมมาคารวะและมารยาทตามวัฒนธรรมไทย รักษาความเป็นไทย การยอมรับความเหมือนและความแตกต่างระหว่างบุคคล การมีสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น การปฏิบัติตนเบื้องต้นในการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
            ด้านสติปัญญา ประกอบด้วย การประเมินความสามารถในการสนทนาโต้ตอบและเล่าเรื่องให้ผู้อื่นเข้าใจ ความสามารถในการอ่าน เขียนภาพและสัญลักษณ์ ความสามารถในการคิดแก้ปัญหา คิดเชิงเหตุผล คิดรวบยอด การเล่น/การทำงานศิลปะ/การแสดงท่าทาง/เคลื่อนไหวตามจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง การมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้และความสามารถในการแสวงหาความรู้
๒.๒ วิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินพัฒนาการ
            การประเมินพัฒนาการเด็กแต่ละครั้งควรใช้วิธีการประเมินอย่างหลากหลายเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุด วิธีการที่เหมาะสมและนิยมใช้ในการประเมินเด็กปฐมวัยมีด้วยกันหลายวิธี ดังต่อไปนี้
            ๑. การสังเกตและการบันทึก การสังเกตมีอยู่ ๒ แบบคือ การสังเกตอย่างมีระบบ ได้แก่ การสังเกตอย่างมจุดมุ่งหมายที่แน่นอนตามแผนที่วางไว้ และอีกแบบหนึ่งคือ การสังเกตแบบไม่เป็นทางการ เป็นการสังเกตในขณะที่เด็กทำกิจกรรมประจำวันและเกิดพฤติกรรมที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นและผู้สอนจดบันทึกไว้การสังเกตเป็นวิธีการที่ผู้สอนใช้ในการศึกษาพัฒนาการของเด็ก เมื่อมีการสังเกตก็ต้องมีการบันทึก ผู้สอนควรทราบว่าจะบันทึกอะไรการบันทึกพฤติกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเด็กเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงต้องนำมาบันทึกเป็นหลักฐานไว้อย่างชัดเจน การสังเกตและการบันทึกพัฒนาการเด็กสามารถใช้แบบง่ายๆคือ
                   ๑.๑ แบบบันทึกพฤติกรรม ใช้บันทึกเหตุการณ์เฉพาะอย่างโดยบรรยายพฤติกรรมเด็ก ผู้บันทึกต้องบันทึกวัน เดือน ปีเกิดของเด็ก และวัน เดือน ปี ที่ทำการบันทึกแต่ละครั้ง
                   ๑.๒ การบันทึกรายวัน เป็นการบันทึกเหตุการณ์หรือประสบการณ์หรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนทุกวัน ถ้าหากบันทึกในรูปแบบของการบรรยายก็มักจะเน้นเฉพาะเด็กรายที่ต้องการศึกษา ข้อดีของการบันทึกรายวันคือ การชี้ให้เห็นความสามารถเฉพาะอย่างของเด็ก จะช่วยกระตุ้นให้ผู้สอนได้พิจารณาปัญหาของเด็กเป็นรายบุคคลช่วยให้ผู้เชียวชาญมีข้อมูลมากขึ้นสำหรับวินิจฉัยเด็กว่าสมควรจะได้รับคำปรึกษาเพื่อลดปัญหาและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้อย่างถูกต้อง นอกจากนั้นยังช่วยชี้ให้เห็นข้อเสียของการจัดกิจกรรมและประสบการณ์ไก้เป็นอย่างดี
                        ๑.๓ แบบสำรวจรายการ ช่วยให้สามารถวิเคราะห์เด็กแต่ละคนได้ค่อนข้างละเอียด
            ๒. การสนทนา สามารถใช้การสนทนาได้ทั้งเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล เพื่อประเมินความสามารถในการแสดงความคิดเห็น และพัฒนาการด้านภาษาของเด็กและบันทึกผลการสนทนาลงในแบบบันทึกพฤติกรรมหรือบันทึกรายวัน
            ๓. การสัมภาษณ์ ด้วยวิธีพูดคุยกับเด็กเป็นรายบุคคลและควรจัดในสภาวะแวดล้อมเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดและวิตกกังวล ผู้สอนควรใช้คำถามที่เหมาะสมเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดและตอบอย่างอิสระจะทำให้ผู้สอนสามารถประเมินความสามารถทางสติปัญญาของเด็กแต่ละคนและค้นพบศักยภาพในตัวเด็กได้โดยบันทึกข้อมูลลงในแบบสัมภาษณ์
            การเตรียมการก่อนการสัมภาษณ์ ผู้สอนควรปฏิบัติ ดังนี้
-          กำหนดวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์
-          กำหนดคำพูด/คำถามที่จะพูดกับเด็ก ควรเป็นคำถามที่เด็กสามารถตอบโต้หลากหลาย ไม่ผิด/ถูก
การปฏิบัติขณะสัมภาษณ์
-          ผู้สอนควรสร้างความคุ้นเคยเป็นกันเอง
-          ผู้สอนควรสร้างสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นไม่เคร่งเครียด
-          ผู้สอนควรเปิดโอกาสเวลาให้เด็กมีโอกาสคิดและตอบคำถามอย่างอิสระ
-          ระยะเวลาสัมภาษณ์ไม่ควรเกิน ๑๐-๒๐ นาที
            ๔. การรวบรวมผลงานที่แสดงออกถึงความก้าวหน้าแต่ละด้านของเด็กเป็นรายบุคคล โดยจัดเก็บรวบรวมไว้ในแฟ้มผลงาน (portfolio) ซึ่งเป็นวิธีรวบรวมและจัดระบบข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับตัวเด็กโดยใช้เครื่องมือต่างๆรวบรวมเอาไว้อย่างมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน แสดงการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการแต่ละด้าน นอกจากนี้ยังรวมเครื่องมืออื่นๆ เช่น แบบสอบถามผู้ปกครอง แบบสังเกตพฤติกรรม แบบบันทึกสุขภาพอนามัย ฯลฯ เอาไว้ในแฟ้มผลงาน เพื่อผู้สอนจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กอย่างชัดเจนและถูกต้อง การเก็บผลงานของเด็กจะไม่ถือว่าเป็นการประเมินผลถ้างานแต่ละชิ้นถูกรวบรวมไว้โดยไม่ได้รับการประเมินจากผู้สอนและไม่มีการนำผลมาปรับปรุงพัฒนาเด็กหรือปรับปรุงการสอนของผู้สอน ดังนั้นจึงเป็นแต่การสะสมผลงานเท่านั้น เช่นแฟ้มผลงานขีดเขียน งานศิลปะ จะเป็นเพียงแค่แฟ้มผลงานที่ไม่มีการประเมิน แฟ้มผลงานนี้จะเป็นเครื่องมือการประเมินต่อเนื่องเมื่องานที่สะสมแต่ละชิ้นถูกใช้ในการบ่งบอกความก้าวหน้า ความต้องการของเด็ก และเป็นการเก็บสะสมอย่างต่อเนื่องที่สร้างสรรค์โดยผู้สอนและเด็ก
            ผู้สอนสามารถใช้แฟ้มผลงานอย่างมีคุณค่าสื่อสารกับผู้ปกครองเพราะการเก็บผลงานเด็กอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอในแฟ้มผลงานเป็นข้อมูลให้ผู้ปกครองสามารถเปรียบเทียบความก้าวหน้าที่ลูกของตนมีเพิ่มขึ้น จากผลงานชิ้นแรกกับชิ้นต่อๆมาข้อมูลในแฟ้มผลงานประกอบด้วย ตัวอย่างผลงานการเขียดเขียน การอ่าน และข้อมูลบางประการของเด็กที่ผู้สอนเป็นผู้บันทึก เช่นจำนวนเล่มของหนังสือที่เด็กอ่าน ความถี่ของการเลือกอ่านที่มุมหนังสือในช่วงเวลาเลือกเสรี การเปลี่ยนแปลงอารมณ์ ทัศนคติ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะสะท้อนภาพของความงอกงามในเด็กแต่ละคนได้ชัดเจนกว่าการประเมินโดยการให้เกรด ผู้สอนจะต้องชี้แจงให้ผู้ปกครองทราบถึงที่มาของการเลือกชิ้นงานแต่ละชิ้นงานที่สะสมในแฟ้มผลงาน เช่น เป็นชิ้นงานที่ดีที่สุดในช่วงระยะเวลาที่เลือกชิ้นงานนั้น เป็นชิ้นงานที่แสดงความต่อเนื่องของงานโครงการ ฯลฯ ผู้สอนควรเชิญผู้ปกครองมามีส่วนร่วมในการคัดสรรชิ้นงานที่บรรจุลงในแฟ้มผลงานของเด็ก
๕. การประเมินการเจริญเติบโตของเด็ก ตัวชี้ของการเจริญเติบโตในเด็กที่ใช้ทั่วๆไป ได้แก่ น้ำหนัก ส่วนสูง เส้นรอบศีรษะ ฟัน และการเจริญเติบโตของกระดูก แนวทางประเมินการเจริญเติบโต มีดังนี้
            ๕.๑ การประเมินการเจริญเติบโต โดยการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงเด็กแล้วนำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติในกราฟแสดงน้ำหนักตามเกณฑ์อายุกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้สำหรับติดตามการเจริญเติบโตโดยรวม วิธีการใช้กราฟมีขั้นตอน ดังนี้
            เมื่อชั่งน้ำหนักเด็กแล้ว นำน้ำหนักมาจุดเครื่องหมายกากบาทลงบนกราฟ และอ่านการเจริญเติบโตของเด็ก โดยดูเครื่องหมายกากบาทว่าอยู่ในแถบสีใด อ่านข้อความบนแถบสีนั้น ซึ่งแบ่งภาวะโภชนาการเป็น ๓ กลุ่มคือ น้ำหนักที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ น้ำหนักมากเกนเกณฑ์ น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ข้อควรระวังสำหรับผู้ปกครองและผู้สอนคือ ควรดูแลน้ำหนักเด็กอย่างให้แบ่งเบนออกจากเส้นประเมินมิเช่นนั้นเด็กมีโอกาสน้ำหนักมากเกินเกณฑ์หรือน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ได้

            ข้อควรคำนึงในการประเมินการเจริญเติบโตของเด็ก
                        -เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันในด้านการเจริญเติบโต บางคนรูปร่างอ้วน บางคนช่วงครึ่งหลังของขวบปีแรก น้ำหนักเด็กจะขึ้นช้า เนื่องจากห่วงเล่นมากขึ้นและความอยากอาหารลดลง
ร่างใหญ่ บางคนร่างเล็ก
                        -ภาวะโภชนาการเป็นตัวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับขนาดของรูปร่าง แต่ไม่ใช่สาเหตุเดียว
                        -กรรมพันธุ์ เด็กอาจมีรูปร่างเหมือนพ่อแม่คนใดคนหนึ่ง ถ้าพ่อหรือแม่เตี้ย ลูกอาจเตี้ยและพวกนี้อาจมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยได้และมักจะเป็นเด็กที่ทานอาหารได้น้อย
            ๕.๒ การตรวจสุขภาพอนามัย เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของเด็ก โดยพิจารณาความสะอาดสิ่งปกติขอร่างกายที่จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและการเจริญเติบโตของเด็ก ซึ่งจะประเมินสุขภาพอนามัย ๙ รายการคือ ผมและศีรษะ หูและใบหู มือและเล็บมือ เท้าและเล็บเท้า ปาก ลิ้นและฟัน จมูก ตา ผิวหนังและใบหน้า และเสื้อผ้า
๒.๓ เกณฑ์การประเมินพัฒนาการ
            การสร้างเกณฑ์หรือพัฒนาเกณฑ์หรือกำหนดเกณฑ์การประเมินพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ผู้สอนควรให้ความสนใจในส่วนที่เกี่ยวข้อ  ดังนี้
            ๑. การวางแผนการสังเกตพฤติกรรมของเด็กอย่างเป็นระบบ เช่น จะสังเกตเด็กคนใดบ้างในแต่ละวัน กำหนดพฤติกรรมที่สังเกตให้ชัดเจน จัดทำตารางกำหนดการสังเกตเด็กเป็นรายบุคคล รายกลุ่ม ผู้สอนต้องเลือกสรรพฤติกรรมที่ตรงกับระดับพัฒนาการของเด็กคนนั้นจริงๆ
            ๒. ในกรณีที่ห้องเรียนมีนักเรียนจำนวนมาก ผู้สอนอาจเลือกสังเกตเฉพาะเด็กที่ทำได้ดีแล้วและเด็กที่ยังทำไม่ได้ ส่วนเด็กปานกลางให้ถือว่าทำได้ไปตามกิจกรรม
            ๓. ผู้สอนต้องสังเกตจากพฤติกรรม คำพูด การปฏิบัติตามขั้นตอนในระหว่างทำงาน/กิจกรรม และคุณภาพของผลงาน/ชิ้นงาน ร่องรอยที่นำมาใช้พิจารณาตัดสินผลของการทำงานหรือการปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น
                        ๑) เวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรม/ทำงาน ถ้าเด็กไม่ชอบ ไม่ชำนาญจะใช้เวลามาก มีท่าทางอิดออด ไม่กล้า ไม่เต็มใจทำงาน
                        ๒) ความต่อเนื่อง ถ้าเด็กยังมีการหยุดชะงัก ลังเล ทำงานไม่ต่อเนื่อง แสดงว่าเด็กยังไม่ชำนาญหรือยังไม่พร้อม
                        ๓) ความสัมพันธ์ ถ้าการทำงาน/ปฏิบัตินั้นๆมีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง ไม่ราบรื่น ท่าทางมือและเท้าไม่สัมพันธ์กัน แสดงว่าเด็กยังไม่ชำนาญหรือยังไม่พร้อม ท่าที่แสดงออกจึงไม่สง่างาม
                        ๔) ความภูมิใจ ถ้าเด็กยังไม่ชื่นชม ก็จะทำงานเพียงให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว ไม่มีความภูมิใจในการทำงาน ผลงานจึงไม่ประณีต
            ๒.๓.๑ ระดับคุณภาพผลการประเมินพัฒนาการเด็ก
            การให้ระดับคุณภาพผลการประเมินพัฒนาการของเด็กทั้งในระดับชั้นเรียนและระดับสถานศึกษาควรกำหนดในทิศทางหรือรูปแบบเดียวกัน สถานศึกษาสามารถให้ระดับคุณภาพผลการประเมินพัฒนาการของเด็กที่สะท้อนมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตัวบ่งชี้ สภาพที่พึงประสงค์ หรือพฤติกรรมที่จะประเมิน เป็นระบบตัวเลข เช่น ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ หรือเป็นระบบที่ใช้คำสำคัญ เช่น ดี พอดี หรือ ควรส่งเสริม ตามที่สถานศึกษากำหนด ตัวอย่างเช่น

ระบบตัวเลข
ระบบที่ใช้คำสำคัญ
ดี
พอใช้
ควรส่งเสริม
สถานศึกษาอาจกำหนดระดับคุณภาพของการแสดงออกในพฤติกรรม เป็น ๓ ระดับ ดังนี้
ระดับคุณภาพ
ระบบที่ใช้คำสำคัญ
๑ หรือ ควรส่งเสริม
เด็กมีความลังเล ไม่แน่ใจ ไม่ยอมปฏิบัติกิจกรรม ทั้งนี้ เนื่องจากเด็กยังไม่พร้อม ยังมั่นใจ และกลัวไม่ปลอดภัย ผู้สอนต้องยั่วยุหรือแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างหรือต้องคอยอยู่ใกล้ๆ ค่อยๆให้เด็กทำทีละขั้นตอน พร้อมต้องให้กำลังใจ
๒ หรือ พอใช้
เด็กแสดงได้เอง แต่ยังไม่คล่อง เด็กกล้าทำมากขึ้นผู้สอนกระตุ้นน้อยลง ผู้สอนต้องคอยแก้ไขในบางครั้ง หรือคอยให้กำลังใจให้เด็กฝึกปฏิบัติมากขึ้น
๓ หรือ ดี
เด็กแสดงได้อย่างชำนาญ คล่องแคล่ว และภูมิใจ เด็กจะแสดงได้เองโดยไม่ต้องกระตุ้น มีความสัมพันธ์ที่ดี
ตัวอย่างคำอธิบายคุณภาพ
            พัฒนาการด้านร่างกาย : สุขภาพอนามัย            พัฒนาการด้านร่างกาย : กระโดดเท้าเดียว
ระดับคุณภาพ
คำอธิบายคุณภาพ
ระดับคุณภาพ
คำอธิบายคุณภาพ
๑หรือ ควรส่งเสริม
ส่งเสริมความสะอาด
๑หรือ ควรส่งเสริม
ทำได้แต่ไม่ถูกต้อง
๒ หรือ พอใช้
สะอาดพอใช้
๒ หรือ พอใช้
ทำได้ถูกต้อง แต่ไม่คล่องแคล่ว
๓ หรือ ดี
สะอาด
๓ หรือ ดี
ทำได้ถูกต้อง และคล่องแคล่ว
            พัฒนาการด้านอารมณ์ : ประหยัด
ระดับคุณภาพ
คำอธิบายคุณภาพ
๑หรือ ควรส่งเสริม
ใช้สิ่งของเครื่องใช้เกินความจำเป็น
๒ หรือ พอใช้
ใช้สิ่งของเครื่องใช้อย่างประหยัดเป็นบางครั้ง
๓ หรือ ดี
ใช้สิ่งของเครื่องใช้อย่างประหยัดตามความจำเป็นทุกครั้ง
            พัฒนาการด้านสังคม : ปฏิบัติตามข้อตกลง
ระดับคุณภาพ
คำอธิบายคุณภาพ
๑หรือ ควรส่งเสริม
ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง
๒ หรือ พอใช้
ปฏิบัติตามข้อตกลง โดยมีผู้ชี้นำหรือกระตุ้น
๓ หรือ ดี
ปฏิบัติตามข้อตกลงได้ด้วยตนเอง
            พัฒนาการด้านสติปัญญา : เขียนชื่อตนเองตามแบบ
ระดับคุณภาพ
คำอธิบายคุณภาพ
๑หรือ ควรส่งเสริม
เขียนชื่อตนเองไม่ได้ หรือเขียนเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่เป็นตัวอักษร
๒ หรือ พอใช้
เขียนชื่อตนเองได้ มีอักษรบางตัวกลับหัว กลับด้านหรือสลับที่
๓ หรือ ดี
เขียนชื่อเองได้ ตัวอักษรไม่กลับหัว ไม่กลับด้านไม่สลับที่

            ๒.๓.๒ การสรุปผลการประเมินพัฒนาการเด็ก
            หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช... กำหนดเวลาเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยต่อปีการศึกษาไม่น้อยกว่า ๑๘๐ วัน สถานศึกษาจึงควรบริหารจัดการเวลาที่ได้รับนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเด็กอย่างรอบด้านและสมดุล ผู้สอนควรมีเวลาในการพัฒนาเด็กและเติมเต็มศักยภาพของแด็ก เพื่อให้การจัดประสบการณ์การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ ผู้สอนต้องตรวจสอบพฤติกรรมที่แสดงพัฒนาการของเด็กต่อเนื่องมีการประเมินซ้ำพฤติกรรมนั้นๆอย่างน้อย ๑ ครั้งต่อภาคเรียน เพื่อยืนยันความเชื่อมั่นของผลการประเมินพฤติกรรมนั้นๆ และนำผลไปเป็นข้อมูลในการสรุปการประเมินสภาพที่พึงประสงค์ของเด็กในแต่ละสภาพที่พึงประสงค์ นำไปสรุปการประเมินตัวบ่งชี้และมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามลำดับ
            อนึ่ง การสรุประดับคุณภาพของการประเมินพัฒนาการเด็ก วิธีการทางสถิติที่เหมาะสมและสะดวกไม่ยุ่งยากสำหรับผู้สอน คือการใช้ฐานนิยม (Mode) ในบางครั้งพฤติกรรม หรือสภาพที่พึงประสงค์หรือตัวบ่งชี้นิยมมากว่า ๑ ฐานนิยม ให้อยู่ในดุลยพินิจของสถานศึกษา กล่าวคือ เมื่อมีระดับคุณภาพซ้ำมากกว่า ๑ ระดับ สถานศึกษาอาจตัดสินสรุปผลการประเมินพัฒนาการบนพื้นฐาน หลักพัฒนาการและการเตรียมความพร้อม หากเป็นภาคเรียนที่ ๑ สถานศึกษาควรเลือกตัดสินใจใช้ฐานนิยมที่มีระดับคุณภาพต่ำกว่าเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาเด็กให้พร้อมมากขึ้น หากเป็นภาคเรียนที่ ๒ สถานศึกษาควรเลือกตัดสินใจใช้ฐานนิยมที่มีระดับคุณภาพสูงกว่าเพื่อตัดสินและการส่งต่อเด็กในระดับชั้นที่สูงขึ้น
            ๒.๓.๓ การเลื่อนชั้นอนุบาลและเกณฑ์การจบการศึกษาระดับปฐมวัย
            เมื่อสิ้นปีการศึกษา เด็กจะได้รับการเลื่อนชั้นโดยเด็กต้องได้รับการประเมินมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้ง ๑๒ ข้อ ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย เพื่อเป็นข้อมูลในการส่งต่อยอดการพัฒนาให้กับเด็กในระดับสูงขึ้นต่อไป และเนื่องจากการศึกษาระดับอนุบาลเป็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ไม่นับเป็นการศึกษาภาคบังคับ จึงไม่มีการกำหนดเกณฑ์การจบชั้นอนุบาล การเทียบโนการเรียน และเกณฑ์การเรียนซ้ำชั้น และหากเด็กมีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาต่อการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น สถานศึกษาอาจตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาปัญหา และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือ เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่งเสริมตำบล นักจิตวิทยา ฯลฯ เข้าร่วมดำเนินงานแก้ปัญหาได้
            อย่างไรก็ตาม ทักษะที่นำไปสู่ความพร้อมในการเรียนรู้ที่สามารถใช้เป็นรอยเชื่อมต่อระหว่างชั้นอนุบาลกับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่ควรพิจารณามีทักษะดังนี้
            ๑. ทักษะการช่วยเหลือตนเอง ได้แก่ ใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมได้ด้วยตนเอง แต่งกายได้เอง เก็บของเข้าที่เมื่อเล่นเสร็จและช่วยทำความสะอาด รู้จักร้องขอให้ช่วยเมื่อจำเป็น
            ๒. ทักษะการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ ได้แก่ วิ่งได้อย่างราบรื่น วิ่งก้าวกระโดดได้ กระด้วยสองขาพ้นจากพื้น ถือจับ ขว้าง กระดอนลูกบอลได้
            ๓. ทักษะการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ได้แก่ ใช้มือหยิบจับอุปกรณ์วาดภาพและเขียน วาดภาพคนมีแขน ขา และส่วนต่างๆของร่างกาย ตัดตามรอยเส้นและรูปต่างๆ เขียนตามแบบอย่างได้
            ๔. ทักษะภาษาการรู้หนังสือ ได้แก่ พูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ฟังและปฏิบัติตามคำชี้แจงงง่ายๆ ฟังเรื่องราวและคำคล้องจองต่างๆอย่างสนใจ เข้าร่วมฟังสนทนาอภิปรายในเรื่องต่างๆ รู้จักผลัดกันพูดโต้ตอบ เล่าเรื่องและทบทวนเรื่องราวหรือประสบการณ์ต่างๆ ตามลำดับเหตุการณ์เล่าเรื่องจากหนังสือภาพอย่างเป็นเหตุเป็นผล อ่านหรือจดจำคำบางคำที่มีความหมายต่อตนเอง เขียนชื่อตนเองได้ เขียนคำที่มีความหมายต่อตนเอง
            ๕. ทักษะการคิด ได้แก่ แลกเปลี่ยนความคิดและให้เหตุผลได้ จดจำภาพและวัสดุที่เหมือนและต่างกันได้ ใช้คำใหม่ๆในการแสดงความคิด ความรู้สึก ถามและตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่ฟังเปรียบเทียบจำนวนของวัตถุ ๒ กลุ่ม โดยใช้คำ “มากกว่า” “น้อยกว่า” “เท่ากัน” อธิบายเหตุการณ์/เวลา ตามลำดับอย่างถูกต้อง รู้จักเชื่อมโยงเวลากับกิจวัตรประจำวัน
            ๖. ทักษะทางสังคมและอารมณ์ ได้แก่ ปรับตัวตามสภาพการณ์ ใช้คำพูดเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งนั่งได้นาน ๕-๑๐ นาที เพื่อฟังเรื่องราวหรือทำกิจกรรม ทำงานจนสำเร็จ ร่วมมือกับคนอื่นและรู้จักผลัดกันเล่น ควบคุมอารมณ์ตนเองได้เมื่อกังวลหรือตื่นเต้น หยุดเล่นและทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการให้ทำได้ ภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง
๓. การายงานผลการประเมินพัฒนาการ
            การรายงานผลการประเมินพัฒนาการเป็นการสื่อสารให้พ่อแม่ ผู้ปกครองได้รับทราบความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งสถานศึกษาต้องสรุปผลการประเมินพัฒนาการ และจัดทำเอกสารรายงานให้ผู้ปกครองทราบเป็นระยะๆ หรืออย่างน้อยภาคเรียนละ ๑ ครั้ง
            การรายงานผลการประเมินพัฒนาการสามารถรายงานเป็นระดับคุณภาพที่แตกต่างไปตามพฤติกรรมที่แสดงออกถึงพัฒนาการแต่ละด้าน ที่สะท้อนมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้ง ๑๒ ข้อ ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
            ๓.๑ จุดมุ่งหมายการรายงานผลการประเมินพัฒนาการ
                        ๑) เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง พ่อ แม่ และผู้ปกครองใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไข ส่งเสริม และพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก
                        ๒) เพื่อให้ผู้สอนใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้
                        ๓) เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานต้นสังกัดใช้ประกอบในการกำหนดนโยบายวางแผนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
            ๓.๒ ข้อมูลในการรายงานผลการประเมินพัฒนาการ
                                                                                              
                        ๓.๒.๑   ข้อมูลระดับชั้นเรียน  ประกอบด้วย เวลาเรียนแบบบันทึกการประเมินพัฒนาการตามหน่วยการจัดประสบการณ์ สมุดบันทึกผลการประเมินพัฒนาการประจำชั้น และสมุดรายงานประจำตัวนักเรียน และสารนิทัศน์ที่สะท้อนการเรียนรู้ของเด็ก เป็นข้อมูลสำหรับรายงานให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้สอน และผู้ปกครอง ได้รับทราบความก้าวหน้า ความสำเร็จในการเรียนรู้ของเด็กเพื่อนำไปในการวางแผนกำหนดเป้าหมายและวิธีการในการพัฒนาเด็ก
                        ๓.๒.๒ ข้อมูลระดับสถานศึกษา ประกอบด้วย ผลการประเมินมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้ง ๑๒ ข้อตามหลักสูตร เพื่อใช้เป็นข้อมูลและสารสนเทศในการพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนการสอนและคุณภาพของเด็ก ให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์และแจ้งให้ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูล โดยผู้มีหน้าที่รับผิดชอบแต่ละฝ่ายนำไปปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาเด็กให้เกิดพัฒนาการอย่างถูกต้อง เหมาะสม รวมทั้งนำไปจัดทำเอกสารหลักฐานแสดงพัฒนาการของผู้เรียน
                        ๓.๒.๓ ข้อมูลระดับเขตพื้นที่การศึกษา ได้แก่ ผลการประเมินมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้ง ๑๒ ข้อ ตามหลักสูตรเป็นรายสถานศึกษา เพื่อเป็นข้อมูลที่ศึกษานิเทศก์/ผู้เกี่ยวข้องใช้วางแผนและดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาปฐมวัยของสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพเด็กและมาตรฐานการศึกษา
            ๓.๓ ลักษณะข้อมูลสำหรับการรายงานผลการประเมินพัฒนาการ
            การรายงานผลการประเมินพัฒนาการ สถานศึกษาสามารถเลือกลักษณะข้อมูลสำหรับการรายงานได้หลายรูปแบบให้เหมาะสมกับวิธีการรายงานและสอดคล้องกับการให้ระดับผลการประเมินพัฒนาการโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพของการรายงานและการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ของผู้รายงานแต่ละฝ่ายลักษณะข้อมูลมีรูปแบบ ดังนี้
                        ๓.๓.๑ รายงานเป็นตัวเลข หรือคำที่เป็นตัวแทนระดับคุณภาพพัฒนาการของเด็กที่เกิดจากการประมวลผล สรุปตัดสินข้อมูลผลการประเมินพัฒนาการของเด็ก ได้แก่
                        - ระดับผลการประเมินพัฒนาการมี ๓ ระดับ คือ ๓   
                        - ผลการประเมินคุณภาพ “ดี” “พอใช้” และ “ควรส่งเสริม”
                        ๓.๓.๒ รายงานโดยใช้สถิติ เป็นรายงานจากข้อมูลที่เป็นตัวเลข หรือข้อความให้เป็นภาพแผนภูมิหรือเส้นพัฒนาการ ซึ่งจะแสดงให้เห็นพัฒนาการความก้าวหน้าของเด็กว่าดีขึ้น หรือควรได้รับการพัฒนาอย่างไร เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป
                        ๓.๓.๓ รายงานเป็นข้อความ เป็นการบรรยายพฤติกรรมหรือคุณภาพที่ผู้สอนสังเกตพบ เพื่อรายงานให้ทราบว่าผู้เกี่ยวข้อง พ่อ แม่ และผู้ปกครองทราบว่าเด็กมีความสามารถ มีพฤติกรรมตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรอย่างไร เช่น
                        - เด็กรับลูกบอลที่กระดอนจากพื้นด้วยมือทั้ง ๒ ข้างได้โดยไม่ใช้ลำตัวช่วยและลูกบอลไม่ตกพื้น
                        - เด็กแสดงสีหน้า ท่าทางสนใจ และมีความสุขขณะทำงานทุกช่วงกิจกรรม
                        - เด็กเล่นและทำงานคนเดียวเป็นส่วนใหญ่
                        - เด็กจับหนังสือไม่กลับหัว เปิด และทำท่าทางอ่านหนังสือและเล่าเรื่องได้
            ๓.๔ เป้าหมายของการรายงาน
                        การดำเนินการจัดการศึกษาปฐมวัย ประกอบด้วย บุคลากรหลายฝ่ายร่วมมือประสานงานกันพัฒนาเด็กทางตรงและทางอ้อม ให้มีพัฒนาการ ทักษะ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์โดยผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องควรได้รับการายงานผลการประเมินพัฒนาการของเด็กเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินงาน ดังนี้
กลุ่มเป้าหมาย
การใช้ข้อมูล
ผู้สอน
-วางแผนและดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาเด็ก
-ปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาการจัดการเรียนรู้
ผู้บริหารสถานศึกษา
-ส่งเสริมพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ระดับปฐมวัยของสถานศึกษา
พ่อ แม่ และผู้ปกครอง
-รับทราบผลการประเมินพัฒนาการของเด็ก
-ปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งการดูแลสุขภาพอนามัยร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และพฤติกรรมต่างๆของเด็ก
คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
-พัฒนาแนวทางการจัดการศึกษาปฐมวัยสถานศึกษา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา/หน่วยงานต้นสังกัด
-ยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษาปฐมวัยของสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา นิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผลและให้ความช่วยเหลือการพัฒนาคุณภาพการศึกษาปฐมวัยของสถานศึกษาในสังกัด
            ๓.๕ วิธีการรายงานผลการประเมินพัฒนาการ
            การรายงานผลการประเมินพัฒนาการให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ สามารถดำเนินการ ได้ดังนี้
                        ๓.๕.๑ การรายงานผลการประเมินพัฒนาการในดอกสารหลักฐานการศึกษา  ข้อมูลจากแบบรายงาน สามารถใช้อ้างอิง ตรวจสอบ และรับรองผลพัฒนาการของเด็ก เช่น
                        - แบบบันทึกผลการประเมินพัฒนาการประจำชั้น
                        - แฟ้มสะสมงานของเด็กรายบุคคล
                        -สมุดรายงานประจำตัวนักเรียน
                        -สมุดบันทึกสุขภาพเด็ก
                        ฯลฯ
                        ๓.๕.๒ การรายงานคุณภาพการศึกษาปฐมวัยให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ  สามารถรายงานได้หลายวิธี เช่              - รายงานคุณภาพการศึกษาปฐมวัยประจำปี
                        - วารสาร/จุลสารของสถานศึกษา
                        -จดหมายส่วนตัว
                        -การให้คำปรึกษา
                        -การให้พบครูที่ปรึกษาหรือการประชุมเครือข่ายผู้ปกครอง
                        - การให้ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตผ่านเว็ปไซต์ของสถานศึกษา
ภารกิจของผู้สอนในการประเมินพัฒนาการ
            การประเมินพัฒนาการตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพนั้น เกิดขึ้นในห้องเรียนและระหว่างการจัดกิจกรรมประจำวันและกิจวัตรประจำวัน ผู้สอนต้องไม่แยกการประเมินพัฒนาการออกจากการจัดประสบการณ์ตามตารางประจำวัน ควรมีลักษณะการประเมินพัฒนาการในชั้นเรียน (Classroom Assessment) ซึ่งหมายถึง กระบวนการและการสังเกต การบันทึกและรวบรวมข้อมูลจากการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน/กิจกรรมประจำวันตามสภาพจริง (Authentic Assessment) ผู้สอนควรจัดทำข้อมูลหลักฐานหรือเอกสารอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นร่องรอยของการเจริญเติบโตพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย แล้วนำมาวิเคราะห์ ตีความ บันทึกข้อมูลที่ได้จากการประเมินพัฒนาการว่าเด็กรู้อะไร สามารถทำอะไรได้ และจะทำต่อไปอย่างไร ด้วยวิธีการและเครื่องมือที่หลากหลายทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งนั้นการดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน/กิจกรรมประจำวันและการจัดประสบการณ์เรียนรู้
            ดังนั้น ข้อมูลที่เกิดจากการประเมินที่มีคุณภาพเท่านั้น จึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ตรงตามเป้าหมาย ผู้สอนจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในหลักการ แนวคิด วิธีดำเนินงานในส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรการจัดประสบการเรียนรู้ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการวางแผนและออกแบบการประเมินพัฒนาการได้อย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานการประเมินพัฒนาการในชั้นเรียนที่มีความถูกต้อง ยุติธรรม เชื่อถือได้ มีความสมบูรณ์ ครอบคลุมตามจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย สะท้อนผลและสภาพความสำเร็จเมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายของการดำเนินการจัดการศึกษาปฐมวัย ทั้งในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป
๑. ขั้นตอนการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย
            การประเมินพัฒนาการเด็กของผู้สอนระดับปฐมวัยจะมีขั้นตอนสำคัญๆคล้ายคลึงกับการประเมินการศึกษาทั่วไป ขั้นตอนต่างๆอาจปรับลด หรือเพิ่มได้ตามความเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาและสอดคล้องกับการจัดประสบการณ์ หรืออาจสลับลำดับก่อนหลังได้บ้าง ขั้นการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย โดยสรุปควรมี ๖ ขั้นตอน ดังนี้
            ขั้นตอนที่ ๑ การวิเคราะห์มาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตัวบ่งชี้ และสภาพที่พึงประสงค์ ตัวบ่งชี้ และสภาพที่พึงประสงค์ที่สัมพันธ์กับหน่วยการจัดประสบการณ์ต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานการประเมินพัฒนาการอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทั่วถึง
            ขั้นตอนที่ ๒ การกำหนดสิ่งที่จะประเมินและวิธีการประเมิน ในขั้นตอนนี้สิ่งที่ผู้สอนต้องทำคือ การกำหนดการประเด็นการประเมิน ได้แก่ สภาพที่พึงประสงค์ในแต่ละวัยของเด็กที่เกิดจากกาจัดประสบการณ์ในแต่ การจัดประสบการณ์  มากำหนดเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้ของหน่วยการเรียนรู้ จุดประสงค์ย่อยของกิจกรรมตามตารางประจำวัน ๖กิจกรรมหลัก หรือตามรูปแบบการจัดประสบการณ์ที่กำหนด ผู้สอนต้องวางแผนและออกแบบวิธีการประเมินให้เหมาะสมกับกิจกรรม บางครั้งอาจใช้การสังเกตพฤติกรรม การประเมินผลงาน/ชิ้นงาน การพูดคุยหรือสัมภาษณ์เด็ก เป็นต้น ทั้งนี้วิธีการที่ผู้สอนเลือกใช้ต้องมีความหมายหลากหลาย หรือมากว่า ๒ วิธีการ
            ขั้นตอนที่ ๓ การสร้างเครื่องมือและเกณฑ์การประเมิน ในขั้นตอนนี้ ผู้สอนจะต้องกำหนดเกณฑ์การ ประเมินพัฒนาการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่จะประเมินในขั้นตอนที่ ๒ อาจใช้แนวทางการกำหนดเกณฑ์ที่ กล่าวมาแล้วข้างต้นในส่วนที่ ๒ เป็นเกณฑ์การประเมินแยกส่วนของแต่ละพฤติกรรมและเกณฑ์สรุปผลการ ประเมิน พร้อมกับจัดทำแบบบันทึกผลการสังเกตพฤติกรรมตามสภาพที่พึงประสงค์ของแต่ละหน่วยการจัดประสบการณ์นั้นๆ
            ขั้นตอนที่ ๔ การดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นขั้นตอนที่ผู้สอนออกแบบ/วางแผนและทำการสังเกต พฤติกรรมของเด็กเป็นรายบุคคล รายกลุ่ม การพูดคุยหรือการสัมภาษณ์เด็ก หรือการประเมินผลงาน/ชิ้นงานของเด็ก อย่างเป็นระบบ  เพื่อรวบรวมข้อมูลพัฒนาการของเด็กให้ทั่วถึงครบทุกคน สอดคล้องและตรงประเด็นการประเมินที่วางแผนไว้ในขั้นตอนที่ ๔ บันทึกลงในเครื่องมือที่ผู้สอนพัฒนาหรือจัดเตรียมไว้
            การบันทึกผลการประเมินพัฒนาการตามสภาพที่พึงประสงค์ของแต่ละหน่วยการจัดประสบการณ์นั้น   ผู้สอนเป็นผู้ประเมินเด็กเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม อาจให้ระดับคุณภาพ ๓ หรือ ๒ หรือ ๑ หรือให้คำสำคัญ
ที่เป็นคุณภาพ เช่น ดี พอใช้ ควรส่งเสริม ก็ได้ ทั้งนี้ควรเป็นระบบเดียวกันเพื่อสะดวกในการวิเคราะห์ข้อมูลและแปลผลการประเมินพัฒนาการเด็ก ในระยะต้นควรเป็นการประเมินเพื่อความก้าวหน้าไม่ควรเป็นการประเมินเพื่อตัดสิ้นพัฒนาการเด็ก หากผลการประเมินพบว่า เด็กอยู่ในระดับ ๑ พฤติกรรมหนึ่งพฤติกรรมใดผู้สอนต้องทำความเข้าใจว่าเด็กคนนั้นมีพัฒนาการเร็วหรือช้า ผู้สอนจะต้องจัดประสบการณ์ส่งเสริมในหน่วยการจัดประสบการณ์ต่อไปอย่างไร ดังนั้น การเก็บรวบรวมข้อมูลผลการประเมินพัฒนาการในแต่ละหน่วยการจัดประสบการณ์ของผู้สอน จึงเป็น การสะสมหรือรวบรวมข้อมูลผลการประเมินพัฒนาการของเด็กรายบุคคล หรือรายกลุ่มนั่นเอง เมื่อผู้สอนจัดประสบการณ์ครบทุกหน่วยการจัดประสบการณ์ตามที่วิเคราะห์สาระการเรียนรู้รายปีของแต่ละภาคเรียน
            ขั้นตอนที่ ๕ การวิเคราะห์ข้อมูลและแปลผล ในขั้นตอนนี้ ผู้สอนที่เป็นผู้ประเมิน ควรดำเนินดาร ดังนี้
                        ๑) การวิเคราะห์และแปลผลการประเมินพัฒนาการเมื่อสิ้นสุดหน่วยการจัดประสบการณ์ ผู้สอนจะบันทึกผลการประเมินพัฒนาการของเด็กลงในแบบบันทึกผลการสังเกตพฤติกรรมตามสภาพที่พึงประสงค์ของหน่วยการจัดประสบการณ์หน่วยที ๑ จนถึงหน่วยสุดท้ายของภาคเรียน
                        ๒) การวิเคราะห์และแปลผลการประเมินประจำภาคเรียนหรือภาคเรียนที่ ๒ เมื่อสิ้นปีการศึกษา ผู้สอนจะนำผลการประเมินพัฒนาการสะสมที่รวบรวมไว้จากทุกหน่วยการเรียนรู้สรุปลงในสมุดบันทึกผลประเมินพัฒนาการประจำชั้น และสรุปผลพัฒนาการรายด้านทั้งชั้นเรียน
            ขั้นตอนที่ ๖ การสรุปรายงานผลและการนำข้อมูลไปใช้ เป็นขั้นตอนที่ผู้สอนซึ่งเป็นครูประจำชั้นจะสรุปผลเพื่อตัดสินพัฒนาการของเด็กปฐมวัยเป็นรายตัวบ่งชี้รายมาตรฐานและพัฒนาการทั้ง ๔ ด้าน เพื่อนำเสนอผู้บริหารสถานศึกษาอนุมัติการตัดสิน และแจ้งคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมกับครูประจำชั้นจะจัดทำรายงานผลการประเมินประจำตัวนักเรียน นำข้อมูลไปใช้สรุปผลการประเมินคุณภาพเด็ก ของระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาเมื่อสิ้นภาคเรียนที่ ๒ หรือเมื่อสิ้นปีการศึกษา
      
การจัดการศึกษาระดับปฐมวัย ( เด็กอายุ ๓ – ๖ ปี )
สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
            การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะสามารถนำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยไปปรับใช้ได้ ทั้งในส่วนของโคตรสร้างหลักสูตร สาระการเรียนรู้ การจัดประสบการณ์ และการประเมินพัฒนาการให้เหมาะสมกับสภาพ บริบท ความต้องการ และศักยภาพของเด็กแต่ละประเภทเพื่อพัฒนาให้เด็กมีคุณภาพตามมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยกำหนดโดยดำเนินการดังนี้
๑. เป้าหมายคุณภาพเด็ก หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยได้กำหนดมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และสาระการเรียนรู้ เป็นเป้าหมายและกรอบทิศทางเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ในการพัฒนาเด็ก สถานศึกษาหรือผู้จัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ สามารถเลือกหรือปรับใช้ ตัวบ่งชี้และสภาพที่พึงประสงค์ในการพัฒนาเด็ก เพื่อนำไปทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลแต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพพัฒนาการของเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
๒. การประเมินพัฒนาการ จะต้องคำนึงถึงปัจจัยความแตกต่างของเด็ก อาทิ เด็กที่พิการอาจต้องมีการปรับการประเมินพัฒนาการที่เอื้อต่อสภาพเด็ก ทั้งวิธีการเครื่องมือที่ใช้ หรือกลุ่มเด็กที่มีจุดเน้นเฉพาะด้าน
การเชื่อมต่อของการศึกษาระดับปฐมวัยกับระดับประถมศึกษาปีที่ ๑
การเชื่อมต่อของการศึกษาระดับปฐมวัยกับระดับประถมศึกษาปีที่ ๑ มีความสำคัญอย่างยิ่ง บุคลากรทุกฝ่ายจะต้องให้ความสนใจต่อการช่วยลดช่องว่างของความไม่เข้าใจในการจัดการศึกษาทั้งสองระดับ ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอน ตัวเด็ก ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆทั้งระบบ การเชื่อมต่อของการศึกษาระดับปฐมวัยกับระดับประถมศึกษาปีที่ ๑ จะประสบผลสำเร็จได้ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
            ๑. ผู้บริหารสถานศึกษา
ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทเป็นผู้นำในการเชื่อมต่อโดยเฉพาะระหว่างหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยในช่วงอายุ ๓ – ๖ ปี กับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โดยต้องศึกษาหลักสูตรทั้งสองระดับ เพื่อทำความเข้าใจ จัดระบบการบริหารงานด้านวิชาการที่จะเอื้อต่อการเชื่อมโยงการศึกษาโดยการจัดกิจกรรมเพื่อเชื่อมต่อการศึกษา ดังตัวอย่างกิจกรรมต่อไปนี้
๑.๑ จัดประชมครูระดับปฐมวัยและครูระดับประถมศึกษาร่วมกันสร้างรอยเชื่อมต่อของหลักสูตรทั้งสองระดับให้เป็นแนวปฏิบัติของสถานศึกษาเพื่อครูทั้งสองระดับจะได้เตรียมการสอนให้สอดคล้องกับเด็กวัยนี้
 ๑.๒ จัดหารเอกสารด้านหลักสูตรและเอกสารทางวิชาการของทั้งสองระดับมาไว้ให้ครูและบุคลากรอื่นๆได้ศึกษาทำความเข้าใจ อย่างสะดวกและเพียงพอ
๑.๓ จัดกิจกรรมให้ครูทั้งสองระดับมีโอกาสแลกเปลี่ยนเผยแพร่ความรู้ใหม่ๆ ที่ได้รับจากการอบรม ดูงาน ซึ่งไม่ควรจัดให้เฉพาะครูในระดับเดียวกันเท่านั้น
๑.๔ จัดเอกสารเผยแพร่ตลอดจนกิจกรรมสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ระหว่างสถานศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครองและบุคลากรทางการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ
                   ๑.๕ จัดให้มีการพบปะ หรือการทำกิจกรรมร่วมกับพ่อแม่ ผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ในระหว่างที่เด็กอยู่ในระดับปฐมวัย เพื่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง จะได้สร้างความเข้าใจและสนับสนุนการเรียน การสอนของบุตรหลานตนได้อย่างถูกต้อง
                   ๑.๖ จัดกิจกรรมให้ครูทั้งสองระดับได้ทำกิจกรรมร่วมกันกับพ่อแม่ ผู้ปกครองและเด็กในบางโอกาส
                   ๑.๗ จัดกิจกรรมปฐมนิเทศพ่อแม่ ผู้ปกครองอย่างน้อย ๒ ครั้ง คือ ก่อนเด็กเข้าเรียนระดับปฐมวัยศึกษาและก่อนเด็กจะเลื่อนขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเข้าใจ การศึกษาทั้งสองระดับและให้ความร่วมมือในการช่วยเด็กให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ดี
            ๒. ครูระดับปฐมวัย
            ครูระดับปฐมวัย นอกจากจะต้องศึกษาทำความเข้าใจหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย และจัดกิจกรรมพัฒนาเด็กของตนแล้ว ควรศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดการเรียนการสอนในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ และสร้างความเข้าใจให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครองและบุคลากรอื่นๆ รวมทั้งช่วยเหลือเด็กในการปรับตัวก่อนเลื่อนขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โดยครูอาจจัดกิจกรรมดังตัวอย่างต่อไปนี้
                 ๒.๑ เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อส่งต่อครูชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ซึ่งจะทำให้ครูระดับประถมศึกษาสามารถใช้ข้อมูลนั้นช่วยเหลือเด็กในการปรับตัวเข้ากับการเรียนรู้ใหม่ต่อไป
                 ๒.๒ พูดคุยกับเด็กถึงประสบการณ์ที่ดีๆ เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เพื่อให้เด็กเกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้
                   ๒.๓ จัดให้เด็กได้มีโอกาสทำความรู้จักกับครูตลอดจนสภาพแวดล้อม บรรยากาศของห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ทั้งที่อยู่ในสถานศึกษาเดียวกันหรือสถานศึกษาอื่น
            ๓. ครูระดับประถมศึกษา
            ครูระดับประถมศึกษาต้องมีความรู้ ความเข้าใจในพัฒนาการเด็กปฐมวัยและมีเจตคติที่ดีต่อการจัดประสบการณ์ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาจัดการเรียนรู้ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ของตนให้ต่อเนื่องกับการพัฒนาเด็กในระดับปฐมวัย ดังตัวอย่าง ต่อไปนี้
                   ๓.๑ จัดกิจกรรมให้เด็ก พ่อแม่ และผู้ปกครอง มีโอกาสได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับครูและห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ก่อนเปิดภาคเรียน
                   ๓.๒ จัดสภาพห้องเรียนให้ใกล้เคียงกับห้องเรียนระดับปฐมวัย โดยจัดให้มีมุมประสบการณ์ภายในห้องเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสทำกิจกรรมได้อย่างอิสระเช่น มุมหนังสือ มุมของเล่น มุมเกมการศึกษา เพื่อช่วยให้เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ได้ปรับตัวและเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง
                   ๓.๓ จัดกิจกรรมร่วมกันกับเด็กในการสร้างข้อตกลงเกี่ยวกับการปฏิบัติตน
                   ๓.๔ เผยแพร่ข่าวสารด้านการเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน
            ๔. พ่อแม่ ผู้ปกครองและบุคลากรทางการศึกษา
            พ่อแม่ ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษาต้องทำความเข้าใจหลักสูตรของการศึกษาทั้งสองระดับ และเข้าใจว่าถึงแม้เด็กจะอยู่ในระดับประถมศึกษาแล้วแต่เด็กยังต้องการความรักความเอาใจใส่ การดูแลและการปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ได้แตกต่างไปจากระดับปฐมวัย และควรให้ความร่วมมือกับครูและสถานศึกษาในการช่วยเตรียมตัวเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวได้เร็วยิ่งขึ้น


การกำกับ ติดตาม ประเมิน และรายงาน
            การจัดสถานศึกษาปฐมวัยมีลักการสำคัญในการให้สังคม ชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและกระจายอำนาจการศึกษาลงไปยังท้องถิ่นโดยตรง โดยเฉพาะสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นผู้จัดการศึกษาในระดับนี้ ดังนั้น เพื่อให้ผลผลิตทางการศึกษาปฐมวัยมีคุณภาพตามมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและสังคมจำเป็นต้องมีระบบการกำกับ ติดตาม ประเมินและรายงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดการศึกษา เห็นความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรค ตลอดจนการให้ความร่วมมือช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน การวางแผน และดำเนินงานการจัดการศึกษาปฐมวัยให้มีคุณภาพอย่างแท้จริง
            การกำกับ ติดตาม ประเมินและรายงานผลการจัดการศึกษาปฐมวัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาและระบบการประกันคุณภาพที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาปฐมวัย สร้างความมั่นใจให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยต้องมีการดำเนินการที่เป็นระบบเครือข่ายครอบคลุมทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกตั้งแต่ระดับชาติ เขตพื้นที่ทุกระดับละทุกอาชีพ การกำกับดูแลประเมินผลต้องมีการรายงานผลจากทุกระดับให้ทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนทั่วไปทราบ เพื่อนำข้อมูลจากรายงานผลมาจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น